กระทรวงศึกษาธิการ – เปิดเผยเหตุผลที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา* เพิ่มเติม 11 จังหวัด และเมื่อรวมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในปัจจุบันที่มีการจัดตั้งแล้ว 8 จังหวัด (ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ระยอง กาญจนบุรี นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล) ส่งผลให้ปัจจุบันมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งสิ้น 19 จังหวัด
*พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ พื้นที่การปฏิรูปการบริหารและการจัดการการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษาซึ่งเป็นพื้นที่ระดับจังหวัดที่สถานศึกษานำร่องสามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ โดยสามารถมีการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ไม่ต้องอิงกับกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือไม่เอื้อจากส่วนกลาง มีกลไกการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.edusandbox.com)
จังหวัดสุโขทัย
มีการดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กด้อยโอกาส และมีความพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐอื่น รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่พร้อมช่วยเหลือสนับสนุนการศึกษาในจังหวัด จึงมีความพร้อมและมีศักยภาพให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดเป็นสถานศึกษานำร่องทั้งจังหวัด
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อยู่ในพื้นที่สูงและพื้นที่ติดชายแดนและมีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก มีผู้เรียนและประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ ขาดแคลนครูทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนขาดความต่อเนื่อง จังหวัดจึงได้จัดตั้งองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาของจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และจะใช้ประโยชน์จากการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและผู้บริหารสถานศึกษา
จังหวัดกระบี่
มีบุคลากรทางการศึกษาที่มีความเข้าใจบริบทของพื้นที่และมีศักยภาพในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ความเสมอภาคด้านการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจตนเอง และเลือกเส้นทางในการศึกษาต่อตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่
จังหวัดตราด
มีผู้นำการศึกษาที่มีศักยภาพ มีสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพด้านจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ รวมทั้งได้ร่วมขับเคลื่อนการศึกษาโดยร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและมีการประสานความร่วมมือระหว่างคนในพื้นที่เป็นอย่างดี
จังหวัดสระแก้ว
เป็นพื้นที่ติดชายแดน ขาดการบูรณาการในด้านการศึกษา เด็กส่วนใหญ่ยากจนและด้อยโอกาส เด็กและเยาวชนของจังหวัดมีผลการทดสอบทางการศึกษาทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่ำกว่าระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุกและสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
กรุงเทพมหานคร
มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เช่น 1) การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ โดยโรงเรียนดำเนินการปรับกรอบหลักสูตร มีพี่เลี้ยงทางวิชาการสนับสนุน มีการอบรมพัฒนาครู การเพิ่มทักษะการใช้นวัตกรรมการศึกษารูปแบบต่าง ๆ หรือเทคนิคการสอนใหม่ ๆ และปรับกลไกการติดตามเพื่อความคล่องตัว เช่น กำหนดแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา 2) การให้อิสระกับสถานศึกษาในการบริหารจัดการโดยวางแนวทางการบริหารด้านบุคลากรและงบประมาณที่สนับสนุนงานด้านวิชาการ ศึกษากฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดความอิสระและเพิ่มความคล่องตัวเพื่อให้เกิดการปลดล็อกเพิ่มเติมและ 3) มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่และจัดตั้ง “ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาเพื่อระดมพลังพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของเด็กกรุงเทพมหานคร” โดยมีผู้แทนทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป
จังหวัดจันทบุรี
มีแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาในรูปแบบ Chan Education Shift Model (C = Change , H = Happiness , A = Agreement for Action, N = Network Instruction) Change คือ ยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน โดยมุ่งการลด ละ เลิก โครงการที่ไม่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งการปลดล็อกกฎ ระเบียบต่าง ๆ และมุ่งเน้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา Happiness คือ ผู้เรียนได้พัฒนาองค์รวมความรู้ ทักษะ สมรรถนะตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข สอดคล้องกับวิถีชีวิต “สุขทุกวันที่จันทบุรี” Agreement for Action คือ จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ในระยะเวลา 3 ปี โดยกำหนดให้มีนวัตกรรมในการจัดการศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีความสอดคล้องกับบริบทของตนเอง เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง Network Instruction คือ สถานศึกษาจัดการศึกษาด้วยตนเอง โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน อปท. และภาคประชาสังคม
จังหวัดภูเก็ต
มีแผนที่จะสร้างระบบการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของพื้นที่และความต้องการของประชาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างคนและการศึกษา เช่น มุ่งเน้นให้เด็กภูเก็ตทุกคนต้องพูดได้มากกว่า 2 ภาษา รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการบริหารทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อนำจังหวัดภูเก็ตไปสู่ความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกและในอนาคตจะต้องแข่งกับประเทศอื่นในเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
จังหวัดสงขลา
มีแนวทางการเนินการที่ชัดเจน เช่น (1) การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาโดยใช้ข้อมูลสารสนเทศเป็นฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาสถานศึกษา (2) มุ่งส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อปท. สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด และ (3) มีสถานศึกษาในจังหวัดเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
มีเป้าหมายสำคัญที่จะยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและมุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเป็นคนดีมีการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีสมรรถนะที่จำเป็นรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต รวมทั้งให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเด็กตกหล่นและเด็กที่มีปัญหาให้ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเสมอภาค
จังหวัดอุบลราชธานี
ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียม รวมทั้งมีการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาจัดหลักสูตรที่ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนตามสมรรถนะและบริบท
ที่มา : thaigov.go.th